เทศบาลตำบลบ้านเหล่า

คำแถลงนโยบาย

ของนายวีรชัย สุวรรณธาราเรือง  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านเหล่า 

แถลงต่อสภาเทศบาลตำบลบ้านเหล่าในการประชุมสภาฯ สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2564
เมื่อวันอังคาร ที่  11 พฤษภาคม 2564  เวลา 09.30 น.
ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบ้านเหล่า


เรียน  ท่านประธานสภาเทศบาลตำบลบ้านเหล่าและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านเหล่า

        ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน

  ตามที่เทศบาลตำบลบ้านเหล่า ได้ดำเนินการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเหล่า โดยตรงจากประชาชน  เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 และจากผลการเลือกตั้งปรากฏว่าประชาชนในเขตเทศบาลตำบลบ้านเหล่า   ได้กรุณามอบความไว้วางใจให้กระผม  นายวีรชัย สุวรรณธาราเรือง เป็นผู้บริหารงานเทศบาล  ในตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเหล่า

ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496     แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 14 พุทธศักราช 2562  มาตรา 48 ทศ วรรคแรกและวรรคสอง  ได้บัญญัติไว้ว่า    ก่อนนายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่     ให้ประธานสภาเทศบาล เรียกประชุมสภาเทศบาล  เพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาล   โดยไม่มีการลงมติ   ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี การประชุมเพื่อแถลงนโยบายของนายกเทศมนตรีให้กระทำโดยเปิดเผย     โดยนายกเทศมนตรีจัดทำนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรแจกให้สมาชิกสภาเทศบาลทุกท่านที่มาประชุมด้วย

 ในการบริหารงานเทศบาลตำบลบ้านเหล่า กระผมนายวีรชัย สุวรรณธาราเรือง ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเหล่า ช่วงระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้งเป็นต้นไป กระผมจะบริหารงาน  โดยยึดหลักการ “ร่วมคิด  ร่วมทำ  ร่วมพัฒนา”  เพื่อสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับสังคมในเขตเทศบาลตำบลบ้านเหล่า    ทิศทางการพัฒนายึดความต้องการประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทศบาลตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good  Governance) 

ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเทศบาล ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 50 และมาตรา 51 พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 14 พุทธศักราช 2562  กระผมจะบริหารเทศบาลตำบลบ้านเหล่า ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามนโยบายที่ได้หาเสียงกับประชาชนในเขตเทศบาลตำบลบ้านเหล่า ในคราวการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564   ซึ่งได้กำหนดนโยบายในการบริหารงานเทศบาลตำบลบ้านเหล่า  7 ด้าน ดังต่อไปนี้

1. ด้านเศรษฐกิจ 

 เร่งรัดจัดหาแหล่งน้ำให้ทั่วถึงและเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร (ตามสโลแกนที่กระผมได้กล่าวไว้ว่า   “น้ำไหล ไฟสว่าง รู้แนวทางกำจัดขยะ”) โดยการวางระบบท่อส่งน้ำ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากน้ำให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับชนิดของพืช ตลอดจนขยายระบบการกระจายน้ำในพื้นที่การเกษตรให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเต็มศักยภาพ  ดังนั้น เมื่อเรามีน้ำเพียงพอกับการอุปโภคบริโภคแล้ว เราจะคืนแหล่งน้ำ เช่น อ่างห้วยกั้ง ให้กับเกษตรกรตามความประสงค์แต่แรกที่เราทำเขื่อนนี้ไว้เพื่อการเกษตร  ดังนั้น เกษตรกรจะได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนี้และเราจะวางแผนพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นระบบในทุกกิจกรรมตามแนวทางพระราชดำริ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกัน จะดำเนินการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุน โดยจะพยายามลดต้นทุนด้านภาษีต่างๆให้ถูกลง การส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งเสริมอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

2. ด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ

-จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านต่างๆของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลบ้านเหล่าให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน อาทิเช่น ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง เครื่องกระจายเสียง เสียงตามสาย ที่ต้องเพียงพอและทั่วถึง

-จัดให้มีป้ายถนน ป้ายซอยตามถนนในเขตเทศบาล

-จัดสร้างรางระบายน้ำ ลำเหมืองสาธารณะเข้าสู่พื้นที่เกษตรกร

-จัดโครงการขุดลอกลำห้วยและทำพนังกั้นน้ำในจุดที่สำคัญ

3.   ด้านสิ่งแวดล้อม

-ส่งเสริมให้มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักจากขยะเปียกและขยะทั่วไป

-จัดทำโครงการนำขยะทุกประเภทมา รีไซเคิล หรือ การแปรรูปใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะลงให้ได้มากที่สุด

-โครงการนำเศษไม้ใบไม้มาใช้ประโยชน์ เพื่อลดการเผาลง ป้องกันฝุ่นควันมลพิษทางอากาศ

-โครงการบ้านสะอาดหน้าบ้านน่ามอง เพื่อให้ชุมชนในเขตเทศบาลเป็นเมืองน่าอยู่

4.  ด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการชุมชน

-ให้ความสำคัญในการคุ้มครอง และให้การช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยการจัดให้มีโครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ตามระเบียบกรมประชาสงเคราะห์และตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาล

-คุ้มครองและจัดสรรสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วและทั่วถึง

5.  ด้านการศึกษา  ศาสนา และวัฒนธรรม

-ส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนให้มีความพร้อมที่จะเข้ารับการศึกษาต่ออย่างมีคุณภาพ โดยการดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย ให้ได้รับสารอาหารครบทุกหมู่ สนับสนุนอาหารกลางวัน และการเดินทางทั้งไปและกลับ

-ส่งเสริมและเสริมสร้างความรู้ทางด้านภาษาให้เด็กได้มีความรู้ความสามารถในการพูดและเข้าใจภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อปูพื้นฐานให้เด็กมีความคุ้นเคยและมีความรู้เทียบเท่ากับเด็กที่อยู่ในเขตเมืองได้

-ส่งเสริมให้เด็กฝึกฝนทางด้านกีฬาในทุกๆประเภท เพื่อเพิ่มความมีระเบียบวินัยและความอดทนให้เป็นนักกีฬาที่ดีได้ในอนาคต

-ส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนผู้สูงอายุ 

-ส่งเสริมและฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น การแสดงดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนือ รวมทั้งเอกลักษณ์ด้านการแต่งกาย ภาษาและอื่นๆ

6. ด้านสาธารณสุข

-ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุ โดยการจัดให้มีทีมกู้ชีพและรถเคลื่อนที่เร็ว เพื่อรับส่งผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาล

-ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตที่ดีและเข้มแข็ง ด้วยโครงการการออกกำลังกายของกลุ่มต่างๆ ในช่วงเช้าและเย็น อาทิเช่น โครงการปั่นจักรยาน โครงการเยี่ยมผู้สูงอายุ โครงการเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง โครงการอบรมธรรมะชำระจิตใจ

-โครงการร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย

-โครงการพร้อมใจป้องกันโรคติดต่อ ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อออกจากบ้าน ในช่วงโควิด 19 ระบาด และพร้อมสนับสนุนวัคซีนให้แก่ประชาชน

7.  ด้านระบบสารสนเทศ (ไอที)

พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการบริหารจัดการและการบริการประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งทางภูมิปัญญา ก่อให้เกิด ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน บนฐานวัฒนธรรมท้องถิ่น 

-การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาทดแทนหรือปรับปรุงระบบงานปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น 

  -การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการให้บริการ เป็นการพัฒนาการให้บริการของท้องถิ่นให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการ โดยการ บูรณการการให้บริการต่าง ๆ 

-การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อประชาสัมพันธ์งานท้องถิ่นเพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้าน ต่าง ๆ ของท้องถิ่น 

-การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านสังคม เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาด้านสังคมของท้องถิ่น จัดทำฐานข้อมูลพื้นฐานสำหรับการให้บริการด้านสังคม ด้านสาธารณสุข ความจำเป็นพื้นฐานด้านชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น 

-การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อการทำงานภายใต้วัฒนธรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งหนึ่งที่จะมี ความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปคือการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบ 

จะเห็นได้ว่า ทุกนโยบาย การบริหารงานเทศบาลตำบลบ้านเหล่า  ช่วงระยะเวลา 4 ปี  ในตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเหล่า ของกระผม ล้วนเป็นประโยชน์สุขของท้องถิ่นทั้งสิ้น ซึ่งกระผมมีความมั่นใจว่า นโยบายของกระผมจะได้รับการพิจารณาสนับสนุน จากท่านประธานสภาเทศบาลตำบลบ้านเหล่าและท่านสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านเหล่าทุกท่าน  เพราะท่านทั้งหลายและกระผมต่างเป็นผู้แทนของปวงชนในเขตเทศบาลตำบลบ้านเหล่า  ซึ่งมีพันธะที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อนำเทศบาลไปสู่เป้าหมาย   คงต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากท่านสมาชิกสภาเทศบาล พนักงานเทศบาล เจ้าหน้าที่ของเทศบาลทุกท่าน รวมถึงประชาชน ได้ช่วยกันสนับสนุน แปลงแนวนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และร่วมกันขับเคลื่อน ผลักดันให้บังเกิดเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์สุขสูงสุดของประชาชนและความเจริญรุ่งเรืองของเทศบาลตำบลบ้านเหล่าต่อไป

 

(วีรชัย     สุวรรณธาราเรือง)

 นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านเหล่า


         
© 2015 เทศบาลตำบลบ้านเหล่า
259 หมู่ 4 ต.ทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย 57350    Best resolution 1024 * 786 or higher
จัดทำโดย นายชัยณรงค์ โสภา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ